เมื่อถึงเวลาที่ต้องบอกลาออก

“การบอกลาออกนั้น สำคัญไม่แพ้การทักทายเมื่อแรกเข้าทำงาน” สำหรับผมครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกในการสื่อสาร แต่เป็นเรื่องที่ยากที่จะบอกกับทีมยังไงให้ไม่รู้สึกว่า การมาเริ่มงานในที่ทำงานใหม่ของบางคน ไม่ได้เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดี
ผมเลือกที่จะใช้การสื่อสารกระชับ ใช้เวลาสั้น มีประเด็นที่จะบอกสองถึงสามเรื่องเท่านั้น โดนเลือกที่จะแจ้งในเวลาที่พร้อมจะกลับบ้านทันที เพื่อให้ได้มีเวลาไปซึมซับกับอาการตกใจแล้วค่อยมาเริ่มทำงานกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น
ส่วนตัวพยายามจะให้ประเด็นที่สื่อสารออกไปมีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น
- เวลา — ผมจะอยู่ช่วยงาน คอยซัพพอร์ท ให้คำปรึกษาถึงวันไหน แต่ละวันที่เหลือมีแผนสำคัญอะไรบ้าง ช่วงไหนว่างสำหรับให้ได้มาพูดคุยกันนอกรอบบ้าง
- ผลกระทบต่อตัวบุคคล — แต่ละคนมีผลกระทบไม่เท่ากัน น้องที่อยู่หน้างาน ไม่ได้ทำงานตรงด้วยผลกระทบจะน้อยกว่า อาจจะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง เรื่องนี้ก็สื่อสารในห้องรวมได้ ส่วนใครที่กระทบโดยตรง ก็ทำการพูดคุยเป็นการส่วนตัวไป เผื่อที่มีอะไรพอจะช่วยได้ ให้กำลังใจในการเปลี่ยนแปลง
- สิ่งที่อาจจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ — แชร์มุมมองด้านบวก เท่าที่แชร์ได้กับทีม อยากให้มองว่าทกุคนอยากให้ทุกการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางครั้งการปรับเปลี่ยนโยกย้ายอะไรบ้าง มันก็ทำให้อะไรหลายอย่างเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว “การเปลี่ยนแปลง” ก็ยังคงเป็นสัจธรรมกับทุกสิ่ง และผมยังคงคิดว่า “ทุกจุดสิ้นสุดในเรื่องหนึ่ง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีขึ้นไปอีกในอีกเรื่องหนึ่งเสมอ” ถ้าเรารู้จักที่จะนำประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในสิ่งใหม่ที่จะมาถึง